ชื่อเรื่อง รูปแบบการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
โดยใช้หน่วยงานภายนอกเพื่อการบริหารงานโรงเรียนเอกชน
ICT Outsourcing Management Model for Private School Administration
ผู้เขียน ดร. ชฎาภรณ์ โฆษิตานนท์ สงวนแก้ว
Chadaporn Kositanont Sanguankaew Ed.D
ที่ปรึกษา ดร.ดิเรก พรสีมา
หลักสูตร ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษาและผู้นำการเปลี่ยนแปลง
มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ธัญบุรี ปทุมธานี
ปีการศึกษา 2552
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาสภาพการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
โดยใช้หน่วยงานภายนอกเพื่อการบริหารงานโรงเรียน (2) เพื่อนำเสนอรูปแบบการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยใช้หน่วยงานภายนอกเพื่อการบริหารงานโรงเรียนเอกชน และ (3) เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยใช้หน่วยงานภายนอกเพื่อการบริหารงานโรงเรียนเอกชนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ การวิจัยมี 3 ตอน คือ ตอนที่ 1 ศึกษาสภาพการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยใช้หน่วยงานภายนอกเพื่อการบริหารงานโรงเรียนเอกชน ตอนที่ 2 นำเสนอรูปแบบการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยใช้หน่วยงานภายนอก เพื่อการบริหารงานโรงเรียนเอกชน และตอนที่ 3 ตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยใช้หน่วยงานภายนอกเพื่อการบริหารงานโรงเรียนเอกชน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ แหล่งข้อมูลที่ศึกษา ได้แก่ ผู้บริหาร ผู้รับผิดชอบงานไอซีทีของโรงเรียนและผู้ทรงคุณวุฒิด้านไอซีที เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถามและคำถามการสัมมนากลุ่ม การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. สภาพการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการบริหารงานโรงเรียน พบว่า ทุกโรงเรียนเห็นความสำคัญของการใช้ไอซีทีเพื่อการศึกษา และมีการใช้บริการหน่วยงานนอกด้านไอซีทีแบบผสมผสาน คือ โรงเรียนดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภายนอก โดยแต่ละโรงเรียนมีการดำเนินงานที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความต้องการและความเหมาะสมตามบริบทของแต่ละโรงเรียน
2. รูปแบบการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยใช้หน่วยงานภายนอก เพื่อการบริหารงานโรงเรียนเอกชนที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย ประกอบด้วย 1) ปัจจัยนำเข้า คือ ทรัพยากรไอซีที ได้แก่ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ บุคลากรไอซีทีและงบประมาณไอซีที 2) กระบวนการจัดการเทคโนโลยี ได้แก่ (1) การกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ (2) การสรรหาและเลือก (3) การทำงานร่วมกัน (4) การทบทวนและไตร่ตรอง และ (5) การควบคุมและให้ข้อมูลป้อนกลับ 3) ผลผลิต คือ ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ไอซีทีกับการบริหารงานของโรงเรียน ได้แก่ งานวิชาการ งานงบประมาณ งานบุคคลและงานบริหารทั่วไป 4) ผลลัพธ์ คือ ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ไอซีทีในโรงเรียน ได้แก่ นักเรียน ครูและเจ้าหน้าที่ โรงเรียน ชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และ 5) ผลสะท้อนกลับ คือ ข้อมูลป้อนกลับจากการใช้ไอซีทีในโรงเรียนเพื่อปรับปรุงการทำงานและพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง
3. ผลการตรวจสอบรูปแบบ พบว่า รูปแบบการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยใช้หน่วยงานภายนอกเพื่อการบริหารงานโรงเรียนเอกชนมีความเหมาะสมที่โรงเรียนเอกชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
คำสำคัญ: การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, การใช้หน่วยงานภายนอกด้านไอซีที,
การบริหารงานโรงเรียนเอกชนโดยใช้ไอซีที, การใช้บริการหน่วยงานภายนอกด้านไอซีทีในโรงเรียนเอกชน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น